กลยุทธ์การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่การยกระดับคุณภาพผู้เรียน
นางจงกลนี ห่วงทอง
สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี
เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนโรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี
ปัจจุบันเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(สพฐ.) ซึ่งมีโรงเรียนทั้งหมด จำนวน ๑๗๐ แห่ง จำแนกเป็นโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต ๑ จำนวน ๑๐๔ แห่ง
และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี
เขต ๒ จำนวน ๖๖ แห่ง
โรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า ๑๒๐ คน ประชาชนและผู้ปกครองนักเรียนมักจะมีคำถามและข้อสงสัยในคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กตลอดมา
กระทรวงศึกษาธิการได้ริเริ่มจัดทำโครงการหลายโครงการเพื่อต้องการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น จากการสังเคราะห์รายงานการวิจัยโรงเรียนขนาดเล็ก พบว่า
ปัญหาการจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก ได้แก่
๑) ด้านประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการลงทุนการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กสูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่
๒)
ด้านคุณภาพการศึกษา โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ทั้งในด้านการบริหารจัดการเรียนการสอน
และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนส่วนใหญ่ยังต่ำ นักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ขาดทักษะด้านการคำนวณ
และทักษะภาษาต่างประเทศ ๓)
ครูยังขาดประสบการณ์สอน สอนไม่ตรงกับวิชาเอกหรือวิชาที่ถนัด
ขาดความชำนาญเฉพาะด้าน ครูไม่ครบชั้นเรียน
ครูขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ๔)
ทรัพยากรไม่เพียงพอ ได้แก่ งบประมาณมีจำกัด ได้รับการจัดสรรน้อย ไม่เพียงพอ เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่ใช้จำนวนนักเรียนเป็นเกณฑ์ในการจัดสรร โรงเรียนส่วนมากขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา
นักเรียนจึงไม่สามารถเรียนรู้หาความรู้จากอินเทอร์เน็ตได้ ครูมีภาระงานอื่นมาก นโยบายโรงเรียนขนาดเล็กไม่ชัดเจน เปลี่ยนแปลงบ่อยและไม่ต่อเนื่อง
ผู้บริหารและครูมีความไม่มั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่
เนื่องจากเกรงว่าเมื่อโรงเรียนถูกยุบแล้วตนเองจะไม่มีตำแหน่ง และที่สำคัญการยุบโรงเรียนต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมีประชาชนบางกลุ่มต่อต้านการยุบอีกด้วย