หน้าเว็บ

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กลยุทธ์การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่การยกระดับคุณภาพผู้เรียน

กลยุทธ์การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่การยกระดับคุณภาพผู้เรียน
นางจงกลนี  ห่วงทอง
สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี

          เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนโรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี  ปัจจุบันเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  ซึ่งมีโรงเรียนทั้งหมด จำนวน ๑๗๐ แห่ง  จำแนกเป็นโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต ๑ จำนวน ๑๐๔ แห่ง  และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต ๒ จำนวน ๖๖ แห่ง  โรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า ๑๒๐ คน ประชาชนและผู้ปกครองนักเรียนมักจะมีคำถามและข้อสงสัยในคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กตลอดมา
          กระทรวงศึกษาธิการได้ริเริ่มจัดทำโครงการหลายโครงการเพื่อต้องการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น  จากการสังเคราะห์รายงานการวิจัยโรงเรียนขนาดเล็ก  พบว่า ปัญหาการจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก  ได้แก่ ๑) ด้านประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา  ค่าใช้จ่ายในการลงทุนการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กสูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่   ๒) ด้านคุณภาพการศึกษา  โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่  ทั้งในด้านการบริหารจัดการเรียนการสอน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนส่วนใหญ่ยังต่ำ  นักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์  ขาดทักษะด้านการคำนวณ และทักษะภาษาต่างประเทศ  ๓) ครูยังขาดประสบการณ์สอน  สอนไม่ตรงกับวิชาเอกหรือวิชาที่ถนัด ขาดความชำนาญเฉพาะด้าน  ครูไม่ครบชั้นเรียน ครูขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน  ๔) ทรัพยากรไม่เพียงพอ ได้แก่ งบประมาณมีจำกัด ได้รับการจัดสรรน้อย ไม่เพียงพอ เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่ใช้จำนวนนักเรียนเป็นเกณฑ์ในการจัดสรร  โรงเรียนส่วนมากขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา นักเรียนจึงไม่สามารถเรียนรู้หาความรู้จากอินเทอร์เน็ตได้  ครูมีภาระงานอื่นมาก  นโยบายโรงเรียนขนาดเล็กไม่ชัดเจน เปลี่ยนแปลงบ่อยและไม่ต่อเนื่อง   ผู้บริหารและครูมีความไม่มั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเกรงว่าเมื่อโรงเรียนถูกยุบแล้วตนเองจะไม่มีตำแหน่ง  และที่สำคัญการยุบโรงเรียนต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์การบริหารส่วนตำบล  ซึ่งมีประชาชนบางกลุ่มต่อต้านการยุบอีกด้วย
          การใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กกับโรงเรียนขนาดเล็ก  โรงเรียนขนาดกลาง หรือโรงเรียนขนาดใหญ่  เป็นวิธีแก้ปัญหาการจัดการศึกษาในปัจจุบัน  นวัตกรรมการสอนโดยรวมชั้นเรียน ๒ ชั้น หรือมากกว่าเข้าด้วยกัน  จึงเป็นรูปแบบที่โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่เลือกใช้นวัตกรรมนี้   ครูต้องบริหารจัดการชั้นเรียน  หน้าที่ของครูสอนโดยรวมชั้นเรียนเสมือนครูมืออาชีพที่ต้องทำหน้าที่เป็นครู  ไม่เพียงแต่สอนตามหลักสูตรเท่านั้น  ด้วยจิตและวิญญาณของครูจะสอดแทรกค่านิยมและทัศนคติที่ดีงามให้แก่นักเรียนอีกด้วย  บทบาทของครูจะถูกคาดหวังว่า เป็นผู้มีกลยุทธ์การสอนที่หลากหลาย  ทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีความหมายและมีประสิทธิผล  ครูทำหน้าที่อำนวยความสะดวก มีความเข้าใจความแตกต่างของนักเรียน สามารถจูงใจให้รักการเรียน  ครูต้องสอนได้ทุกระดับชั้น  แม้ว่าจะไม่มีหลักสูตรกำหนดไว้ก็ตาม  และสุดท้ายครูต้องสอนนักเรียนตัวต่อตัว  ครูทำหน้าที่เป็นผู้วางแผน ต้องคำนึงถึงผลการเรียนรู้ของนักเรียน  การสอนรวมชั้นยากกว่าการสอนชั้นเดียว  ต้องสอนเป็นกลุ่มโดยเน้นความถูกต้องของเนื้อหาวิชา  ครูทำหน้าที่เป็นผู้วัดผล 
ตรวจสอบความก้าวหน้าทางการเรียนของนักเรียน  เพื่อเป็นการประกันด้านคุณภาพการศึกษา  ครูทำหน้าที่เป็นนักวิจัย  มิใช่แต่เป็นผู้สอนเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อค้นหาความรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้น  
             กลยุทธ์การบริหารจัดการชั้นเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อยกระดับการเรียนของนักเรียนได้อย่าง มีประสิทธิภาพนั้น  โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี  มีแนวทางการบริหารจัดการที่หลากหลายรูปแบบ  ได้แก่  ๑) การจัดเป็นกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก ร่วมมือกันบริหารจัดการด้านวิชาการและด้านอื่น ๆ โดยจัดทำโครงการร่วมกัน  มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อประสาน ส่งเสริม ช่วยเหลือ พัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กในกลุ่มเครือข่าย  ๒) รูปแบบการจัด การเรียนการสอนแบบสองประสาน (การสลับชั้นเรียนระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กด้วยกัน  และมีทั้งเรียนสลับ 2 สถานศึกษา เช่น โรงเรียน ก สอนระดับชั้นปฐมวัย และ ป.๑-๓ โรงเรียน ข สอนระดับชั้น ป.๔-๖)  ๓) รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบสามประสาน (การสลับชั้นเรียนระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กด้วยกันซึ่งมีเรียนสลับ 3 สถานศึกษา เช่น โรงเรียน ก สอนระดับชั้นปฐมวัย โรงเรียน ข สอนระดับชั้น ป.๑-๓ โรงเรียน ค สอนระดับ ชั้น ป.๔-๖)  ๔) การจัดการเรียนการสอนแบบ “โรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง” (การนำผู้เรียนไปเรียนรวมกับโรงเรียนหลักเป็นบางชั้น)  ๕) การจัดการเรียนการสอนแบบคละชั้นหรือบูรณาการ  และให้นักเรียนจากโรงเรียนใกล้เคียงไปเรียนยังโรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนแม่เหล็ก (ดีใกล้บ้าน)  และ ๖) การประกาศยุบเลิกโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน  โดยนักเรียนในโรงเรียนที่ประกาศยุบเลิกไปเรียนรวมกับโรงเรียนขนาดเล็กหรือขนาดกลาง  รูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่หลากหลายส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้น  ผู้บริหารและครูมีผลงานเชิงประจักษ์  สามารถเป็นแบบอย่างได้  
          ากความหลากหลายในแต่ละบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก  ท่ามกลางความขาดแคลนภายใต้เป้าหมายเดียวกัน  เป็นความมุ่งมั่นของผู้บริหารโรงเรียนและครูที่จะนำพานักเรียนไปสู่เป้าหมายการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน  นักเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน  โดยอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครอง ชุมชน บริษัท หน่วยงานต่าง ๆ ในการสนับสนุนปัจจัยพัฒนาโรงเรียน  เพื่อเติมเต็มโรงเรียนขนาดเล็กให้ก้าวสู่ความสำเร็จที่ท้าทาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น